โรคซึมเศร้า

ทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้า

ในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เราทุกคนอย่างได้ยินเรื่องราวของโรคซึมเศร้า ที่ใครหลายๆ คน ยังไม่เข้าใจว่า เป็นโรคอย่างหนึ่งทางจิตเวชเลยหรือ และไม่คิดว่าโรคซึมเศร้านี้จะร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โดยจะเห็นได้จากข่าวสารที่พบว่าคนบันเทิงทั้งไทยและต่างประเทศก็เลือกที่จะจากโลกใบนี้ด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากโรคซึมเศร้า 

โรคซึมเศร้า (major depressive disorder : MDD) เป็นความผิดปกติทางจิตซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอารมณ์ซึมเศร้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ในแทบทุกสถานการณ์  มักจะเกิดร่วมกับการขาดความภูมิใจ การเสียความสนใจในกิจกรรมทุกอย่าง รู้สึกไร้เรี่ยวแรง และอาการปวดซึ่งไม่มีสาเหตุชัดเจน โดยผู้ป่วยอาจมีอาการหลงผิดหรือมีอาการประสาทหลอน ในผู้ป่วยบางรายมีช่วงเวลาที่มีอารมณ์ซึมเศร้าห่างกันเป็นปี ๆ ส่วนบางรายอาจมีอาการตลอดเวลา ซึ่งโรคนี้สามารถส่งผลกระทบในแง่ลบให้แก่ผู้ป่วยในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ชีวิตส่วนตัว ตลอดจนการหลับ อุปนิสัยการกิน และสุขภาพโดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าผู้ใหญ่ประมาณ 2–7% เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และประมาณ 60% ของผู้ฆ่าตัวตายกลุ่มนี้มีโรคซึมเศร้าร่วมกับความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดอื่น

โดยทั่วไปแล้วโรคซึมเศร้ารักษาได้ด้วยจิตบำบัดและยาแก้ซึมเศร้า ดูเหมือนยาจะมีประสิทธิภาพ แต่ฤทธิ์อาจสำคัญเฉพาะในผู้ที่ซึมเศร้ารุนแรงมากๆ เท่านั้น ซึ่งไม่ชัดเจนว่ายาส่งผลต่อความเสี่ยงการฆ่าตัวตายหรือไม่ ชนิดของจิตบำบัดที่ใช้มีการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) และการบำบัดระหว่างบุคคล หากมาตรการอื่นไม่เป็นผล อาจทดลองให้การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT) อาจจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงทำร้ายตนเองเข้าโรงพยาบาลแม้บางทีอาจขัดต่อความประสงค์ของบุคคล

สิ่งหนึ่งที่สามารถเป็นการรักษาร่วมกับแพทย์ได้คือคนรอบข้างของผู้ป่วย โดยพฤติกรรมทั้งกายและวาจาของผู้คนรอบข้างนั้นดีก็จะสามารถทำให้อาการของผู้ป่วยนั้นดีขึ้นได้ แต่ถ้าพฤติกรรมทางกายและวาจาของคนรอบข้างนั้นแย่ก็จะทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงได้เช่นกัน โดยวิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็เห็นจะเป็นในเรื่องของการพูดเพื่อให้กำลังใจ ซึ่งการพูดให้กำลังใจนั้นจะต้องไปสร้างพลังงานลบให้กับผู้ป่วย เช่น ชีวิตก็อย่างนี้แหละ มันไม่มีความยุติธรรมหรอก, ยังมีคนที่แย่กว่าเราอีก ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่ได้ทำให้ตัวผู้ป่วยรู้สึกได้กำลังใจแต่อย่างใด แต่หากจะเป็นการเพิ่มความรู้สึกด้านลบให้กับผู้ป่วยเสียอีก ดังนั้นลองเปลี่ยนคำพูดให้อยู่ในลักษณะที่ว่าเราจะอยู่เคียงข้างเขา และเขาไม่ได้อยู่คนเดียวอย่างลำพัง เช่น ฉันอาจจะไม่เข้าใจเธอ แต่ฉันจะอยู่ข้างๆ เธอนะ หรือ ไม่มีใครตั้งใจให้เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นหรอก เป็นต้น

โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่ไม่ปรากฏสาเหตุที่ชัดเจน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับใคร เมื่อไหร่ก็ได้ หากคุณกำลังสงสัยว่าตนเองนั้นเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ ที่นี่ หรือ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อปรึกษาปัญหาเบื้องต้น นอกจากนี้ยังสามารถโทรไปที่ 02-713-6793 สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ป้องกันการฆ่าตัวตายด้วย